หากพูดถึงพระแท้ สิ่งที่ตรงกันข้าม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จะต้องพูดถึงพระเก๊  แต่ถ้าพูดถึงพระแท้ที่สวย  มีสภาพสมบูรณ์  ตรงกันข้ามก็คงจะไม่พ้น   พระที่ชำรุด หรือ  สภาพสึกไม่สวย

          วันนี้เราจะมาพูดถึงพระที่อยู่ในสภาพสึกหรือชำรุด จะทำอย่างไรได้บ้าง ที่จะเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพคงเดิม หรือ ลดความเสื่อมสภาพให้ได้มากที่สุด

           ประการแรก ต้องแยกประเภทของเนื้อพระก่อน  เนื้อพระต่างกันในการเก็บรักษา ต้องทำความเข้าใจให้ถูกวิธี   เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลตรงกันข้าม  คือ  แทนที่จะเก็บรักษาสภาพให้คงเดิมไว้กลับกลายเป็นเร่งให้ชำรุดเร็วกว่าเดิม

           ประเภทของเนื้อที่นำมาสร้างพระนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระกรุ หรือพระเกจิ แบ่งแยกประเภทออกไว้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
           1.ประเภทเนื้อโลหะ ได้แก่ เนื้อสัมฤทธิ์ เนื้อชิน เนื้อตะกั่ว ทองเหลือง ทองแดง
           2.ประเภท เนื้อดิน เนื้อผง ปูนปั้น และเนื้อไม้แกะ

           พระที่ชำรุด ส่วนมากจะเป็นประเภทพระกรุ หรือ พระยุคเก่า ๆ เช่น พระสมัยทวารวดี ลพบุรี  เชียงแสน  สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพระที่บรรจุไว้ในกรุ ในเจดีย์ เสียเป็นส่วนใหญ่ ผ่านร้อน ผ่านหนาว มานาน ตลอดจนถูกออกไซด์  จากธรรมชาติกัดกร่อนบ้าง การเสื่อมสภาพของโลหะ ย่อมต้องเกิดแน่นอน  ส่วนเกิดน้อยหรือมาก คงต้องขึ้นอยู่กับสภาวะในกรุนั้น ๆ

           การเก็บรักษาพระให้คงสภาพเดิมมากที่สุด     ประการแรกให้คำนึงถึง      สภาวะของอุณหภูมิในสถานที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง หรือพระบูชา ไม่ควรเก็บไว้ในที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูง หรือ ต่ำชื้นมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้พระมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้

           การเก็บพระบูชาที่มีสภาพชำรุด ซึ่งเกิดจากการกร่อน  เนื้อประทุ หรือ มีสนิมเชื้อโรคเกิดขึ้น  ขอแนะนำควรรีบรักษาโดยเร่งด่วน   เพราะโลหะพวกนี้มีอายุค่อนข้างมาก    ซึ่งเนื้อโลหะมีสภาพเสื่อมแล้ว (หมดยาง)  จะทำให้เกิดการลาม หรือ ขยายแผลให้ใหญ่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม โดยการแก้ไขเบื้องต้น ให้ใช้น้ำมันจัน น้ำมันล้างปืน หรือน้ำมันจักร  อะไรก็ได้อย่างหนึ่งจำพวกนี้  มาแต้มเฉพาะตรงแผลที่เกิด ให้ดูว่าชุ่มเข้าไปในเนื้อพระก็พอ ไม่ต้องเช็ดออก อย่าใช้น้ำมันเช็ดถูกทั้งองค์เด็ดขาด เพระว่าตรงส่วนที่ไม่ได้ชำรุด อาจดูแลเนื้อพระได้บ้าง แต่ผลเสียจะค่อนข้างมากกว่า  เช่น   เนื้อจะดูนุ่มน้ำมัน  ไม่แห้งเงางาม   ดูไม่สว่างตา  เหมือนพระเก่าทั่วไป  ความชื้นของน้ำมันที่ทาองค์พระจะทำให้ฝุ่นเกาะง่าย  พอนาน ๆ วัน ก็กลายเป็นคราบตระกังเกาะองค์พระแน่นหนา ทำความสะอาดยากมาก

           ส่วนพระเครื่องประเภทห้อยคอใช้  การเก็บรักษาพบปัญหาน้อยมาก ซึ่งเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ  หากเราระวังบ้างในการเก็บรักษา  หรือ  ห้อยใช้    ก็สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตเลย ไม่ว่าจะเป็น  เนื้อดิน  ชิน ผง  หรือว่าเหรียญ  หากนำมาใช้ก็เลี่ยม หรือ ทำตลับใส่ละก็หมดปัญหา  แต่ถ้านำพระเครื่องใส่ในตลับ เมื่อห้อยใช้ไปสักระยะหนึ่ง ก็ควรแกะตลับออกมาทำความสะอาด เปลี่ยนยางรองใหม่บ้าง    ถ้าไม่ทำ ก็จะทำให้พระช้ำ   เพราะยางรองเสื่อมละลายเกาะเนื้อพระ  ทำให้พระเสื่อมสภาพลงได้

           พระเครื่องเท่าที่ฟังมาที่พบปัญหามากที่สุด ก็คือ พระเนื้อชินเงิน แต่เป็นประเภทชินเนื้อกรอบ
( ชินกรอบ เป็นพระเนื้อชินเงินที่อยู่ในสภาพเนื้อหมดยางค่อนข้างสูง เนื้อแห้งดำ ละเอียดเป็นทราย ) การดูแลรักษาค่อนข้างยาก  เพราะเนื้อแห้งมาก  ตกแตกได้ง่าย

           เก็บรักษาให้ใช้น้ำมันจักร หรือ น้ำมันล้างปืน ก็ได้ ทาบาง ๆ ให้ทั่วองค์ ใช้ผ้าสะอาดซับนิดหน่อย ไม่ให้น้ำมันที่ทาเยิ้มไหล  เป็นการเพิ่มความเหนียวให้กับเนื้อพระ   และช่วยลดความกรอบของเนื้อพระลงได้

           มีสมาชิกหลายท่านฝากถามผู้เขียนมาว่า   พระเนื้อชินที่เป็นเนื้อชินกรอบนั้นได้ใช้      น้ำมันทาองค์พระแล้ว ต่อมาสักระยะหนึ่ง องค์พระกลับปริแตกแยกเป็นขุยแล้วหลุดเป็นผงออกมา หมายความว่าไงครับ

           อย่างนี้ต้องขอตอบได้เลยครับว่า น่าจะเป็นพระเก๊ ที่คนรุ่นเก่าเขาทำกันมายุคก่อนโน้น  เขาไม่เรียกว่าชินกรอบหรอกครับ เขาเรียกว่าชินอัดครับ (ชินอัด  คือ  การนำเอาเนื้อชินเงินเก่ามาบดหลอม เพื่อนำมาสร้างพระล้อพิมพ์ ซึ่งเร่งทำสภาพให้ดูเก่าได้ง่าย)



                                                                                                      นุ  เพชรรัตน์