|
เรื่องเครื่องรางของขลัง มีการสร้างกันมานมนาน ครั้นโบร่ำโบราณ หลายร้อยปีแล้ว ส่วนมากเป็นงาน
ที่สร้างสรรค์จากมือแท้ ๆ เกือบทั้งสิ้น (Hand made) วัสดุที่นำมาสร้างนั้น ส่วนใหญ่ก็ได้มาจากวัสดุ
ธรรมชาติทั่วไป เช่น เขี้ยว งา กะลา เขา ไม้ ดิน ชิน ผง ทองคำ เงิน ทองเหลือง ทองแดง หรือ ตะกั่ว
เป็นต้น ด้านพุทธคุณนั้นจะเน้นความเด่นชัด ของผู้สร้างเป็นสำคัญ
จังหวัดพิจิดร เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปรมาจารย์หลายท่าน มีความเก่งกล้า สามารถด้านวิชาอาคม
จนชื่อเสียงโด่งดังอยู่ระดับแถวหน้าของประเทศ เช่น หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ หรือ หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง เป็นต้น ท่านปรมาจารย์เหล่านี้ นอกจากจะสร้างพระเครื่อง
เป็นที่โดดดังแล้ว ท่านยังสร้างเครื่องรางไว้กันอีกมากมายหลายอย่างจนโดดดัง ไม่แพ้พระเครื่องเลยทีเดียว
เครื่องรางที่โดดเด่นที่สุด ของปรมาจารย์เหล่านี้ คงหนีไม่พ้น ตะกรุด ที่ลงยันต์ คู่ชีวิตเอาไว้ เป็นต้น
อะสิสัตติธะนุเจวะ
สัพเพเตอาวุธานิจะ
ภัคคะภัคคาวิจุณณานิ
โลมังมาเมนะผุสสันติ
เป็นคาถาที่ลงในแผ่นตะกรุดทั้งสี่มุม ของยันต์คู่ชีวิต คาถานี้มีการใช้กันมานาน ตั้งแต่สมัยอยุธยา
ยุคต้น ๆ นั้น และยังถือว่าเป็นยันต์ ๆ หนึ่งที่ตำราพิชัยสงคราม ได้บันทึกไว้ว่า เป็นยันต์ชั้นสูงที่ประเมินค่า
มิได้ แต่ใช่ว่าตะกรุดลงยันต์นี้ จะมีเฉพาะเกจิใน จ.พิจิตร เท่านั้น เกจิอาจารย์ในจังหวัดอื่นก็ยังพบเจออยู่
หลายท่าน ที่ได้ลงยันต์ประเภทนี้ไว้
เดิมนั้นเล่ากันว่า ต้นตอที่แท้จริงนั้นมาจาก หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่าทั้งนั้น แม้แต่หลวงพ่อเงิน
วัดบางคลาน ท่านเอง ก็ได้เล่าเรียนมาจาก หลวงพ่อโพธิ์ เช่นกัน
หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่านั้น เป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าแก่มาก ค้นประวัติไม่เจอ สันนิษฐานว่า
น่าจะเกิดในยุครัตนโกสินทร์ ตอนต้น ๆ จากคำกล่าวขานคนรุ่นเก่า ๆ เล่าต่อ ๆ มากันว่า หลวงพ่อโพธิ์ท่าน
เป็นพระมอญ เดินธุดงค์ มาจากเมืองปทุมธานี บุคลิกท่านเป็นพระสันโดษ ชอบอยู่องค์เดียว ชอบวิปัสสนา
กรรมฐาน ในสำนักสงฆ์ที่ท่านสร้างเอาไว้เล็ก ๆ มีลูกศิษย์มาเรียนวิชาอาคมกับท่านอยู่ด้วยกันหลายองค์
รวมทั้ง หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ด้วย เล่ากันว่า หลวงพ่อโพธิ์นั้น ท่านก็ได้สร้างตะกรุดไว้ไม่มากนัก
ส่วนมากจะมีขนาดค่อนข้างเขื่อง คือ มีขนาดความยาวตั้งแต่ ๔ นิ้ว จนถึงขนาด ๙ นิ้ว เท่าที่พบเจอตะกรุด
ของท่าน มักจะอยู่ในสภาพสวยสมบูรณ์เป็นส่วนมาก อาจเนื่องจากมีขนาดค่อนข้างใหญ่
ไม่เหมาะสำหรับ
พกพา จึงเก็บบูชาบนหิ้งกันมากกว่า
ตะกรุดของท่าน จะสร้างก็ต่อเมื่อมีผู้ขอให้ท่านสร้าง ผู้ขอต้องหาวัสดุไปให้ท่าน วัสดุในการสร้าง
ตะกรุดนั้น หลัก ๆ ได้แก่ แผ่นตะกั่ว และทองแดง เอกลักษณ์ตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ จะทำจากเนื้อตะกั่ว
ซึ่งมีขนาดค่อนข้างเขื่อง แล้วใช้ตะกรุดอีกดอกหนึ่งซึ่งทำจากโลหะเนื้อทองแดง ม้วนใส่ไปตรงแกนกลาง
อีกชั้นหนึ่ง ไม่ทราบว่าท่านทำแบบนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตะกรุด หรือ หลวงพ่อท่านต้องการเพิ่ม
คาถาอาคมให้มากขึ้นหรือเปล่า
สำหรับชื่อวัดวังหมาเน่านั้น ประวัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ บริเวณเหนือขึ้นจากวัดไป มีสายน้ำ
หักเลี้ยวโค้ง ทำให้เกิดวังน้ำวนขึ้น เวลาสัตว์ตายลอยน้ำมา ก็จะไหลวนเวียนอยู่ตรงนั้นไม่ลอยไปไหน ทำให้
เกิดกลิ่นเหม็นเน่า ตลบอบอวลไปหมด หลวงพ่อโพธิ์ท่านมีคาถาสยบกลิ่นเหม็นเน่า ท่านจึงอยู่ได้โดยไม่มี
ปัญหา และรังเกียจ
ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อหลวงพ่อโพธิ์ ท่านได้มรณภาพสิ้นลงแล้วนั้น บรรดาลูกศิษย์ ได้แบ่งเอา
ตำรา
คาถาของท่านออกจากวัดจนหมด ส่วนบรรดาญาติ ๆ ของหลวงพ่อโพธิ์ ที่ขึ้นมาจากปทุมธานีนั้น
ก็ได้ขน เครื่องใช้สอยต่าง ๆ ของท่านทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นไม้ที่สร้างกุฏิท่าน หรือจะเป็นเสา ไม้กระดาน
แม้แต่ตอม่อ ก็ขุนขนกลับไปเมืองปทุมกันหมดเลย ชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น ไม่มีใครได้อะไรของหลวงพ่อเลย
สักชิ้นหนึ่ง ทุกคนมีความเชื่อกันว่า เครื่องใช้ไม้สอยของหลวงพ่อทุกอย่าง นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด
เล่ากันว่าเคยมีไฟไหม้ทั่วรอบบริเวณใกล้วัด พอลามมาถึงวัด ไฟนั้นก็ดับลงเองหมด
หลังจากท่านมรณภาพไปนานแล้ว ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๒ วัดจึงจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นทางการอีกครั้ง
และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโพธิ์ศรี โดยนำชื่อของท่านมาประกอบในการตั้งชื่อ
หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ปรมาจารย์พระเกจิอีกรูปหนึ่ง ท่านเป็นชาวพิจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๑๖
กันยายน ปี พ.ศ.๒๓๕๓ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู โยมบิดาชื่อ อู๋ เป็นชาวบ้านบางคลาน โดยกำเนิด
ส่วนโยมมารดาชื่อ ฟัก ท่านเป็นชาวกำแพงเพชร
เชื่อกันว่า หลวงพ่อเงินท่านเป็น อภิยสงฆ์ ที่มีญาณแก่กล้ามากองค์หนึ่ง วัตถุมงคลของท่านที่สร้าง
ขึ้นนั้นได้รับความนิยมเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นพระเครื่อง หรือ เครื่องรางของขลัง และกลายเป็นของหาชม
ยากมากในยุคปัจจุบัน
หลวงพ่อเงิน ท่านได้สร้างตะกรุด โดยลงยันต์ อะสิสัตติ ฯ หรือยันต์คู่ชีวิตเช่นกัน ซึ่งหลวงพ่อเงิน
ท่านได้ไปเล่าเรียนวิชาอาคมนี้มาจากหลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า มาทั้งหมด วัดวังหมาเน่ากับวัดบางคลาน
นั้นอยู่ไม่ไกลกันมากนัก จึงสะดวกมากในการเดินทางไปมา
ตะกรุดของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านสร้างมีขนาดค่อนข้างเขื่องอยู่เหมือนกัน คือ ยาวประมาณ
๓-๔ นิ้ว และค่อนข้างอวบอ้วนสักหน่อย แต่จะสั้น ยาวกว่านี้หรือเปล่า ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกัน
ลักษณะของตะกรุด หลวงพ่อเงินท่านจะสร้างคล้ายๆ ของ หลวงพ่อโพธิ์เลย คือ เป็นตะกรุดที่ทำจาก
แผ่นตะกั่ว นำมาม้วนเสร็จก็ใส่แกนกลางด้วยตะกรุดอีกดอกหนึ่ง
ตะกรุดของหลวงพ่อเงิน จะต่างจาก หลวงพ่อโพธิ์ ซึ่งแยกกันได้ชัดเจน ก็คือ ตะกรุดที่ทำเป็น
ไส้แกนกลางนั้น หลวงพ่อโพธิ์ท่านจะใช้แต่ตะกรุดที่ทำจากเนื้อทองแดงเท่านั้น สอดใส่ไว้เฉย ๆ แต่ตะกรุด
ของหลวงพ่อเงินนั้น แกนกลางที่ใส่ท่านจะไม่ใช้แผ่นทองแดง จะใช้แผ่นทองเหลือง หรือ แผ่นเงินเท่านั้น
แล้วรีดตะกรุดที่ใช้เป็นแกนกลาง กับตะกรุดปลอกนอกที่เป็นตะกั่ว ให้แนบเป็นเนื้อเดียวกันทั้ง ๒ ดอก ส่วน
หลวงพ่อโพธิ์ตะกรุดแกนกลางจะใส่เอาไว้เฉย ๆ ไม่รีดให้เป็นเนื้อเดียวกัน เจตนาของหลวงพ่อเงิน ท่านคง
จะให้ผู้ใช้ภายหน้าแยกกันออกชัดเจน ว่าตะกรุดดอกนี้เป็นของอาจารย์องค์ไหนสร้าง
หลวงพ่อเงิน ท่านมรณภาพเมื่อ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๖๒ รวมสิริอายุได้ ๑๐๙ ปี
ซึ่งตรงกับวันเกิดของท่านด้วย
หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ จังหวัดพิจิตร อีกองค์หนึ่ง ที่เป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีวิชาอาคม แก่กล้ามาก
หลวงปู่ภู เดิมท่านเป็นชาวอยุธยา เกิดเมื่อ เดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ บ้านผักไห่ อยุธยา โยมบิดาชื่อ
แฝง โยมมารดาชื่อ ขำ ซึ่งต่อมา ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาที่ทำกิน ไปที่หมู่บ้าน หาดมูลกระบือ ต.ไผ่ขวาง
อ.เมือง จ.พิจิตร
หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อนั้น ท่านเป็นผู้ชอบศึกษาวิชาอาคม มีความสนใจด้านไสยศาสตร์มาก และถือว่า
ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลานองค์หนึ่ง ซึ่งคอยติดตามไปธุดงค์ทั่วทิศ ได้ฝึกจิต และสมาธิ
จนกล้าแข็ง หลวงพ่อเงิน ท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคมให้จนมากมาย รวมทั้งอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายองค์
หลวงปู่ภู ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังไว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน หลวงปู่ภู ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่ตั้งใจ
สร้างวัตถุมงคล สังเกตได้ว่า วัตถุมงคลแต่ละชิ้นท่านจะพยายามลงอักขระยันต์จนทั่ว ซึ่งน้อยนักจะพบเห็น
เกจิอาจารย์ที่ลงอักขระยันต์ ในวัตถุมงคลของท่านเองมากมายขนาดนี้
ตะกรุดลงยันต์คู่ชีวิตของ หลวงปู่ภูนั้นท่านจะสร้างลักษณะซึ่งต่างไปจากอาจารย์ของท่านทั้ง ๒ องค์
คือ หลวงปู่โพธิ์ และหลวงพ่อเงิน โดยตะกรุดของท่าน จะมีความยาวประมาณ ๔-๖ นิ้ว ค่อนข้างเขื่อง
สักหน่อย ท่านจะไม่ใช้ตะกรุดอีกดอกใส่เป็นไส้แกนกลาง แต่ท่านจะนำเอาแผ่นตะกั่ว แผ่นทองแดง หรือ
แผ่นทองเหลือง นำมาทุบ รีด ตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อลงอักขระยันต์เรียบแล้ว นำมาซ้อนกัน ๒ แผ่น หรือ
๓ แผ่น แล้วม้วนรวมกันเลย ถ้ามองดูตรงหัวตะกรุด เนื้อโลหะที่ต่างกันจะสลับเป็นขั้น ๆ
หลวงปู่ภู ได้มรณภาพ เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ รามสิริอายุได้ ๖๙ ปี ศิษย์เอกของท่านคือ หลวงพ่อครุฆ
ซึ่งเป็นหลานของท่าน และสืบเป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมา
หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง พระเกจิอาจารย์ ซึ่งถือว่า มีวิชาแก่กล้ามากเป็นที่สุดอีกองค์หนึ่งของประเทศ
ไทย เลยทีเดียว หลวงพ่อพิธ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ เล่ากันว่า ท่านเป็นหลานแท้ ๆ ของ หลวงพ่อเงิน
วัดบางคลาน และเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อเงินอีกองค์หนึ่งด้วย และได้ศึกษาวิชาอาคม การทำตะกรุด
มาจากหลวงพ่อเงินทั้งสิ้น ตะกรุดของหลวงพ่อพิธนั้นได้รับความนิยมสูงมาก มีประสบการณ์มากมายจาก
ผู้ใช้ จนได้รับฉายาว่า “ตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง”
หลวงพ่อพิธ ท่านได้สร้างตะกรุดคู่ชีวิตไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐-๒๔๘๕ ให้ทำบุญดอกละ ๑๐
บาท นำเงินที่ได้มาสร้าง พระอุโบสถ ที่วัดสามขา ซึ่งในขณะเวลานั้น รูปหล่อของ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
องค์หนึ่งยังไม่เกิน ๑๐ บาทเลย
ตะกรุดของหลวงพ่อพิธ วัดฆะมังนั้น ปัจจุบันเป็นเครื่องรางที่หาชมของแท้ได้ยากเอามาก ๆ การปลอม
ลอกเลียนแบบมีด้วยกันหลายฝีมือ ที่เลียนแบบได้ดีที่สุด ก็น่าจะเป็นการนำเอาตะกรุดเกจิอาจารย์เก่า ๆ ที่มี
ขนาดใกล้เคียงกันกับ ตะกรุด หลวงพ่อพิธ แล้วนำอั่วที่ทำขึ้นใหม่ มาสอดแกนกลาง ของแท้ราคาค่างวด
ในตลาดพระสูงมาก ดอกละหลายหมื่นบาท น่าเป็นรองแค่ตะกรุดมงคลโสฬล ของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง
เท่านั้นเอง
จุดสังเกตการดูตะกรุดของหลวงพ่อพิธนั้น ตะกั่วต้องเป็นตะกั่วน้ำนม ใช้อั่วทองเหลืองเป็นแกนกลาง
และลงยันต์คู่ชีวิตหรือยันต์อะ หลวงพ่อพิธ ท่านยังมีศิษย์เอกอีกท่านหนึ่ง คือ หลวงพ่อเตียง วัดเขารูปช้าง
ซึ่งได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาทำตะกรุดคู่ชีวิต จากหลวงพ่อพิธ หมดทั้งสิ้นเช่นกัน การสร้างตะกรุดของหลวงพ่อ
เตียงนั้น ท่านจะสร้างเลียนแบบ หลวงพ่อพิธ แต่จะต่างกัน ที่อั่วของหลวงพ่อเตียง จะทำจากโลหะทองแดง
เป็นแกนกลาง หลวงพ่อพิธ นั้นท่านมรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘
ตะกรุดคู่ชีวิตนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์องค์ไหนสร้างก็ตาม มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่น้อยลดหย่อนไป
กว่ากัน เชื่อกันว่าแผ่นโลหะที่ได้ลงยันต์คู่ชีวิต มีความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่ต้องปลุกเสก ก็สามารถ
นำมาใช้ติดตัวได้แล้ว
ตะกรุดแต่ละดอกที่ปรมาจารย์ ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อโพธิ์ หลวงพ่อเงิน หลวงปู่ภู หรือ หลวงพ่อพิธ
ที่ได้สร้างขึ้นนั้น บางดอกก็นำมาลงรักถักเชือก บางดอกก็เปลือยไม่มีการถักเชือก แต่จะสังเกตได้ ตะกรุด
ทุกดอกของทุกอาจารย์ จะมีความเรียบร้อย ประณีตมาก
ด้านพุทธคุณนั้น เชื่อกันว่าครบสูตรทุกประการ แต่เน้นทางด้านแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี
เป็นหลัก เพราะยันต์คู่ชีวิต นั้นหมายถึง มีอยู่แล้วชีวิตอยู่คง ส่วนค่านิยมด้านราคา ทุกอาจารย์นิยมเล่นกัน
อยู่ในหลักหมื่นขึ้นไปครับ
นุ เพชรรัตน์
|
|
|