|
พระชุดเบญจภาคี หมายถึง พระเครื่องที่ถูกจัดเอาไว้จำนวนถึง 5 องค์ ซึ่งได้รับความนิยม และเป็น
ที่ยอมรับกันในวงการพระเครื่อง ทั้งด้านพุทธศิลป และด้านพุทธคุณว่าสุดยอดยิ่งนักคุณ
ชุดเบญจภาคี มีการจัดพระเครื่องให้เข้าเป็นชุดทั้งห้าองค์เอาไว้หลายประเภทด้วยกัน เช่น ชุดเบญจภาคี
ชุดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป มีทั้งเนื้อดิน และเนื้อผงรวมกัน ซึ่งประกอบไปด้วย พระสมเด็จวัดระฆัง
พิมพ์ใหญ่ พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พระรอดกรุวัดมหาวัน พิมพ์ใหญ่ และ
พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่
หรือชุดเบญจภาคี พระปิดตา ยอดนิยม ซึ่งแบ่งออกเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้ถึง 2 ชุด คือ ชุดเนื้อโลหะ
และชุดเนื้อผง
เบญจภาคี พระปิดตา ชุดเนื้อโลหะ ได้แก่ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง พระปิดตาหลวงพ่อทับ
วัดทอง พระปิดตาแร่บางไผ่หลวงปู่จัน วัดโมลี พระปิดตากรุวัดท้ายย่าน ชัยนาท และพระปิดตาหลวงปู่นาค
วัดห้วยจระเข้
เบญจภาคีพระปิดตาชุดเนื้อผง ได้แก่ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม
วัดสะพานสูง พระปิดตาหลวงปู่จีน วัดท่าลาด พระปิดตาหลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน และพระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม
วัดหนองบัว
นอกจากชุดเบญจภาคีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดชุดเบญจภาคีอีกหลายชุด เช่น เบญจภาคี
ชุดกริ่ง เบญจภาคีชุดเนื้อชิน เบญจภาคีชุดเหรียญ และเบญจภาคีชุดเครื่องราง เป็นต้น
ครั้งนี้ขอพูดถึง พระชุดเบญจภาคีประเภทเนื้อชินชุดใหญ่กันก่อน ซึ่งประกอบด้วยกัน 5 องค์ คือ
1.พระร่วงหลังรางปืน สวรรคโลก สุโขทัย
2.พระท่ากระดาน กรุเก่าศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี
3.พระหูยาน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
4.พระพุทธชินราชใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
5.พระมเหศวร กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี
การจัดชุดเบญจภาคีของพระเครื่องแต่ละชุดนั้น เล่ากันว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๗ ปรมาจารย์
ตรียัมปวาย ท่านได้เป็นผู่ริเริ่มเป็นท่านแรกในการจัดชุดเบญจภาคีของพระเครื่องแต่ละชุดเอาไว้
พระร่วงหลังรางปืน สวรรคโลก สุโขทัย ถือว่าเป็นจักรพรรดิของพระเครื่องประเภทเนื้อชินเลยก็ว่าได้
แตกกรุครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ประมาณ ๒๐๐ องค์แต่องค์ที่สมบูรณ์จริง ๆ เล่ากันว่ามีไม่เกิน ๕๐ องค์
และเป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
พระร่วงหลังรางปืน สวรรคโลก พบด้วยกันถึง ๕ พิมพ์ คือ
1.พิมพ์ใหญ่ ฐานสูง 2.พิมพ์ใหญ่ ฐานเตี้ย 3.พิมพ์แก้มปะ
4.พิมพ์หน้าหนุ่ม 5.พิมพ์เล็ก
พระร่วงหลังรางปืน ทุกพิมพ์ได้รับความนิยมสูงมาก องค์ที่ยังคงสภาพเดิม สวย ๆ ราคาเริ่มกันที่
หลักแสน
ขึ้นไปจนถึงหลักล้านกันเลยทีเดียว ส่วนด้านพุทธคุณก็เชื่อว่าเยี่ยมยอดทุกด้าน
พระท่ากระดาน กรุเก่าศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ซึ่งเป็นพระเนื้อตะกั่วสนิมแดงเพียงอย่างเดียวเหมือนกัน
แต่พระท่ากระดาน ส่วนใหญ่สนิมจะไม่ค่อยแดงจัดเท่าไหร่นัก เพราะเป็นพระประเภทเนื้อตะกั่วแก่ชิน
พระท่ากระดาน เป็นพระกรุที่สร้างในสมัยอู่ทอง อายุกว่า ๖๐๐ ปี ซึ่งสร้างในช่วงยุคบ้านเมือง
เจริญรุ่งเรือง พุทธศิลปงดงามมาก เป็นศิลปอู่ทองบริสุทธิ์ ด้านพุทธคุณนั้นก็แทบไม่ต้องเอ่ย เพราะดัง
มาตั้งแต่ครั้นโบร่ำโบราณ ว่าพุทธคุณทุก ๆ ด้านสุดยอดยิ่งนัก ไม่เป็นสองรองใคร
พระท่ากระดาน แตกกรุครั้งแรก ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด รู้แต่เพียงว่าเกินกว่า ๑๐๐ ปี แต่ที่แน่ ๆ
พระท่ากระดาน ได้มีการแตกกรุเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ ที่วัดท่ากระดานกลาง ต.ท่ากระดาน
อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และแตกมาเรื่อย ๆ ตามกรุโน้นบ้าง กรุนี้บ้าง ทั่วไปใน อ.ศรีสวัสดิ์ มีทั้งที่แตกกรุ
เป็นทางการ และ แตกกรุที่ไม่เป็นทางการคือ ใครขุดได้ก็แอบเก็บเอาไว้เองโดยไม่ว่าขุดพบตรงจุดไหน
พระหูยาน พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี แตกกรุด้วยกัน ๒ ครั้ง ครั้งแรก
แตกกรุเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เรียกกันว่าพระกรุเก่า ครั้งที่ ๒ แตกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ ที่กรุวัดพระศรี
รัตนมหาธาตุเช่นกัน เรียกว่าพระกรุใหม่ และสันนิษฐานว่าคงเป็นพระที่สร้างขึ้นมาพร้อมกัน เพราะว่าตำหนิ
พระในองค์พระนั้น เหมือนกันทุกประการ พระหูยานเป็นพระร่วงนั่ง ศิลปะลพบุรี อายุการสร้างเกินกว่า
๗๐๐ ปี พระหูยาน นอกจากแตกจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้ว ยังแตกอีกหลาย ๆ กรุ ใน จ.ลพบุรี
เช่น กรุวัดอินทาราม และ กรุวัดปืน เป็นต้น
พระหูยาน แตกกรุที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีด้วยกันหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่หน้ายักษ์ พิมพ์กลาง
พิมพ์เล็ก พิมพ์บัว ๒ ชั้น พิมพ์รัศมีบัว ๒ ชั้น และพิมพ์จิ๋ว พระหูยาน ทุกกรุ ด้านพุทธคุณเด่นไปในทาง
คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ด้านมหาอำนาจก็ไม่เป็นสองรองใคร
พระพุทธชินราชใบเสมา พิมพ์ใหญ่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก แตกกรุครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๔๐ ที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก พระพุทธชินราชใบเสมา นอกจากพบที่กรุวัดพระศรี
รัตนมหาธาตุแล้ว ยังพบอีกหลายกรุ เช่น กรุเขาสมอแคลง กรุอัฎฐารส กรุเขาพนมเพลิง และยังพบด้วยกัน
หลายเนื้อ มีทั้งเนื้อชินเงิน เนื้อตะกั่วสนิมแดง เนื้อสัมฤทธิ์ และเนื้อดิน เป็นต้น
พระพุทธชินราชใบเสมามีด้วยกันหลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์ใหญ่ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ฐานเตี้ย พิมพ์กลาง
ฐานสูง พิมพ์กลางฐานเตี้ย พิมพ์เล็กฐานสูง และพิมพ์เล็กฐานเตี้ย พระพุทธชินราชใบเสมาทุกพิมพ์
ในปัจจุบันถือว่าเป็นพระที่หาชมได้ค่อนข้างยากมาก พุทธคุณก็ถือว่าเยี่ยมยอดมากทุก ๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็น
ด้านมหาอำนาจ แคล้วคลาด คงกระพัน และมีเมตตาดีสุดยอด
พระมเหศวร พิมพ์ใหญ่ ชินเงิน กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ สุพรรณบุรี พระมเหศวร เป็นพระศิลปะ
สมัยอู่ทอง แตกกรุขึ้นมาพร้อมกับ พระผงสุพรรณ อันลือลั่น ซึ่งอยู่ในเบญจภาคีชุดใหญ่ เมื่อประมาณปี
พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี พบด้วยกันหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง
พิมพ์เล็ก พิมพ์สวนเดี่ยว พิมพ์สวนตรง มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ เป็นพระที่มีสองหน้า แต่ละหน้าของ
องค์พระสวนกัน พระมเหศวรเป็นพระที่ได้รับความนิยมมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้านพุทธคุณดีทางด้าน
แคล้วคลาด คงกระพันชาตรีเป็นเลิศ
พระชุดเบญจภาคีเนื้อชินชุดนี้ ถือว่าเป็นพระยอดขุนพลชุดใหญ่ที่สุด ในประเภทเนื้อชิน และเป็นชุด
เบญจภาคี ที่มีค่านิยมเป็นรองแค่พระชุดเบญจภาคีชุดพระสมเด็จ พระรอด พระซุ้มกอ พระนางพญา และ
พระผงสุพรรณเท่านั้น หากพระชุดเบญจภาคีของชุดใด ขาดพิมพ์หลักยอดนิยม ก็สามารถใช้พระพิมพ์ที่
รอง ๆ ของชุดนั้นแทนก็ได้
นุ เพชรรัตน์
|
|
|